ประวัติคณะวิศวกรรมศาสตร์

ประวัติความเป็นมา

รายละเอียดเกี่ยวกับคณะวิศวกรรมศาสตร์
ชื่อคณะ คณะวิศวกรรมศาสตร์

ที่ตั้ง อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม 38 ถ.เพชรเกษม
แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160
โทรศัพท์ 02-457-0068 ต่อ 5244 โทรสาร 02-457-0068 ต่อ 5244
E-mail : eng2@siam.edu
Homepage : https://eng.siam.edu/

ประวัติ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดตั้งและเริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่มหาวิทยาลัยสยาม  เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2516 โดยเปิดสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชั้นสูง (ปวส.) ในสาขาช่างยนต์ และช่างไฟฟ้า ต่อมาได้เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2529 ได้แก่หลักสูตรวิศวกรรมบัณฑิต และหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ปีการศึกษา 2532 เปิดสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต  และหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ปีการศึกษา 2535 เปิดสอนในหลักสูรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธาและหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปีการศึกษา 2538 ยกเลิกการเรียนการสอนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในปีการศึกษา 2548 เปิดสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาเทคโนโลยียานยนต์ ปีการศึกษา 2549 เปิดหลักสูตรอุตสาหกรรมบัณฑิตสาขาเทคโลยีการพิมพ์ และในปีการศึกษา 2553 เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สรุปเหตุการณ์ ที่สำคัญเกี่ยวกับการเรียนการสอนได้ดังนี้

  • พ.ศ. 2529 ภาควิศวกรรมเครื่องกลเริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตร 4 ปี (วศ.บ.) เป็นสถาบันเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนในหลักสูตรนี้
  • พ.ศ. 2532 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรอุสาหกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
  • พ.ศ. 2535 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอน หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตร 4 ปี
  • ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอน หลักสูตรวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หลักสูตร 2 ปี
  • พ.ศ. 2536 ภาควิชาวิศวกรรมโยธา เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอน หลักสูตรวิศวกรรมโยธา หลักสูตร 4 ปี
  • ปีการศึกษา 2541 ตั้งศูนย์เทคโนโลยีวิศวกรรมเพื่อตอบสนองและรองรับงานด้านการวิจัยและการบริการวิชาการให้กับหน่วยงานและภาคอุตสาหกรรม
  • ปีการศึกษา 2543 จัดตั้งห้องวิจัยและปฏิบัติวิศวกรรมหุ่นยนต์ ที่อาคารปฏิบัติการปฏิบัติการวิศกรรมเครื่องกล (SHOP)
  • ปีการศึกษา 2544 จัดตั้งภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
  • พ.ศ. 2548 ภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอน หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์ หลักสูตร 2 ปี
  • พ.ศ. 2549 จัดตั้งวิศวกรรมการพิมพ์เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรเทคโนโลยีการพิมพ์ หลักสูตร 2 ปี ในปีการศึกษา 2550
  • พ.ศ. 2553 ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ เริ่มเปิดดำเนินการเรียนการสอนหลักสูตรวิศวกรรมอุตสาหการ

ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์ และพันธกิจ

ปรัชญา ปัญญาเป็นรัตนะของนรชน

ปณิธาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตทางวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้องที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ทักษะ และจรรยาบรรณในวิชาชีพ
 
วิสัยทัศน์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านวิศวกรรมชั้นนำในระดับสากล โดยการค้นหารวบรวม คัดเลือกความรู้และเทคโนโลยีที่สำคัญ มีต้นทุนเหมาะสม นำมาประยุกต์ใช้งานได้เอง และมีประโยชน์แก่ประเทศทั้งปัจจุบันรวมถึงในอนาคต โดยนำมาทดสอบ ปรับปรุงการใช้งาน และพัฒนาเป็นต้นแบบแล้วจึงนำมาถ่ายทอดแก่บุคลากรของคณะฯ เพื่อใช้ในการผลิตบัณฑิต และงานวิจัยที่มีคุณภาพที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยสามารถสรุปด้วยคำภาษาอังกฤษว่า FIT TO USE (Figure out Important Technologies, Transfer to Overall, Under Sufficiency Economy)

พันธกิจ
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มุ่งมั่นผลิตบัณฑิต ให้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ตลอดจนพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ โดยการพัฒนาบุคลากรในองค์กร ผลิตงานวิจัยมุ่งสู่ความเป็นสากล มีผลงานทางวิชาการ และบริการทางวิชาการแก่สังคมอย่างต่อเนื่อง มีจิตสำนึกอันดีในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์
เอกลักษณ์ จัดการศึกษาตามมาตรฐานสากล เพื่อเตรียมตัวสู่อาชีพ ในบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันด้วยการยอมรับ และเคารพในความแตกต่าง อัตลักษณ์ พึ่งพาตนเอง ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ คู่วิสัยทัศน์สากล

นโยบายหลัก และวัตถุประสงค์
นโยบายหลัก
ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วยโดยตรง เพราะฉะนั้นก่อนการวางนโยบายพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงต้องศึกษาปัจจัยของการวางกรอบนโยบายก่อน โดยพบว่าปัจจัยภายนอกอันดับแรกที่มีผลกระทบอย่างชัดเจนก็คือ สมาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ กำลังรวมกลุ่มกันกลายเป็นชุมชนอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ภายใต้นโยบาย ASEAN Open Sky จะส่งผลให้การหางานทำของบัณฑิตที่จบใหม่นั้นสามารถทำได้หลายประเทศที่เป็นสมาชิกได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องขอใบอนุญาตการทำงาน ในประเด็นนี้ทำให้โอกาสในการหางานของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษากว้างมากขึ้นเพราะจากผลการสำรวจแรงงานที่ขาดแคลนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนพบว่าแรงงานด้านวิชาชีพทางเทคนิคทั้งหมดยังขาดแคลนเป็นจำนวนมาก และวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอนทางวิศวกรรมศาสตร์ก็เป็นสากลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์พัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมของบัณฑิตให้สามารถทำงานได้ทุกแห่งทั่วโลก และเพื่อเปิดโอกาสให้การพัฒนาหลักสูตรเป็นไปได้จริง คณะฯจะต้องแสวงหาความร่วมมือในรูปแบบบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยการแสวงหากลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจในการร่วมจัดทำโครงการพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากร และบัณฑิต และโครงการศึกษากลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มความเข้าใจในความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีต่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา รวมถึงเพิ่มประสบการณ์ของคณาจารย์และนักศึกษาทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนา คณะฯได้เพิ่มโครงการที่จะให้การบริการวิชาการแก่สังคม รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมอีกด้วย

วัตถุประสงค์

  1. พัฒนาหลักสูตรผลิตวิศวกรที่สามารถทำงานได้ทั่วโลก บัณฑิตของคณะฯจะต้องสามารถทำงานร่วมกับคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันได้ และจะต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้สามารถใช้งานทางวิศวกรรมได้ โดยจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย เพื่อที่จะได้ทำการฝึกฝนภาษาและเรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกัน
  2. พัฒนาบุคลากรของคณฯ ให้มีความสามารถในระดับผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่สอน และพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงการใช้สื่อการสอนภาษาอังกฤษ ทำให้สามารถบรรยายเป็นภาษาอังกฤษแก่นักศึกษาได้
  3. แสวงหาความร่วมมือในรูปแบบบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยการแสวงหากลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจในโครงการร่วมพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากร และบัณฑิต และเพื่อเพิ่มความเข้าใจในความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีต่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา
  4. พัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดยวิเคราะห์ในประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม