นโยบายหลัก

นโยบายหลัก

ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยด้วยโดยตรง เพราะฉะนั้นก่อนการวางนโยบายพัฒนาคณะวิศวกรรมศาสตร์จึงต้องศึกษาปัจจัยของการวางกรอบนโยบายก่อน โดยพบว่าปัจจัยภายนอกอันดับแรกที่มีผลกระทบอย่างชัดเจนก็คือ สมาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN) ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ กำลังรวมกลุ่มกันกลายเป็นชุมชนอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) ภายใต้นโยบาย ASEAN Open Sky จะส่งผลให้การหางานทำของบัณฑิตที่จบใหม่นั้นสามารถทำได้หลายประเทศที่เป็นสมาชิกได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องขอใบอนุญาตการทำงาน ในประเด็นนี้ทำให้โอกาสในการหางานของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษากว้างมากขึ้นเพราะจากผลการสำรวจแรงงานที่ขาดแคลนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนพบว่าแรงงานด้านวิชาชีพทางเทคนิคทั้งหมดยังขาดแคลนเป็นจำนวนมาก และวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอนทางวิศวกรรมศาสตร์ก็เป็นสากลอยู่แล้ว ดังนั้นจึงเป็นโอกาสให้ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์พัฒนาหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมของบัณฑิตให้สามารถทำงานได้ทุกแห่งทั่วโลก และเพื่อเปิดโอกาสให้การพัฒนาหลักสูตรเป็นไปได้จริง คณะฯจะต้องแสวงหาความร่วมมือในรูปแบบบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยการแสวงหากลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจในการร่วมจัดทำโครงการพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากร และบัณฑิต และโครงการศึกษากลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มความเข้าใจในความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีต่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา รวมถึงเพิ่มประสบการณ์ของคณาจารย์และนักศึกษาทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการพัฒนา คณะฯได้เพิ่มโครงการที่จะให้การบริการวิชาการแก่สังคม รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมอีกด้วย

วัตถุประสงค์

  1. พัฒนาหลักสูตรผลิตวิศวกรที่สามารถทำงานได้ทั่วโลก บัณฑิตของคณะฯจะต้องสามารถทำงานร่วมกับคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันได้ และจะต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้สามารถใช้งานทางวิศวกรรมได้ โดยจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างชาติเข้ามาร่วมด้วย เพื่อที่จะได้ทำการฝึกฝนภาษาและเรียนรู้วัฒนธรรมร่วมกัน
  2. พัฒนาบุคลากรของคณฯ ให้มีความสามารถในระดับผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่สอน และพัฒนาการใช้ภาษาอังกฤษ รวมถึงการใช้สื่อการสอนภาษาอังกฤษ ทำให้สามารถบรรยายเป็นภาษาอังกฤษแก่นักศึกษาได้
  3. แสวงหาความร่วมมือในรูปแบบบูรณาการกับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น โดยการแสวงหากลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจในโครงการร่วมพัฒนาบุคลากร เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากร และบัณฑิต และเพื่อเพิ่มความเข้าใจในความต้องการของอุตสาหกรรมที่มีต่อบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา
  4. พัฒนาฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรม เพื่อเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดยวิเคราะห์ในประเด็นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม