หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) และ หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) 6 สาขาวิชา
หลักสูตรที่ 1. ชื่อหลักสูตร : วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) Bachelor of Engineering (B.Eng.)
สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) หรือเทียบเท่า ระยะเวลาศึกษา 4 ปี สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า ระยะเวลาศึกษา 3 ปี มี สาขาวิชา ดังนี้
- สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
- สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
- สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
- สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์
- สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ
- สาขาวิศวกรรมการพิมพ์
หลักสูตรที่ 2. ชื่อหลักสูตร : อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) Bachelor of Industrial Technology (B.Ind.Tech.)
สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือเทียบเท่า ระยะเวลาศึกษา 2 ปี มี 4 สาขาวิชา ดังนี้
- สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
- สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์
- สาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์
วิศวกรรมเครื่องกล
- หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
- หลักสูตร อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
มุ่งเน้นผลิตวิศวกรเครื่องกลที่มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐานในด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพ รวมทั้งศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกลและระบบทางวิศวกรรมเครื่องกล เพื่อให้เป็นผู้มีความสามารถและมีทักษะในการประยุกต์องค์ความรู้และความเข้าใจในพื้นฐานของศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์
ทั้งในด้านการวิเคราะห์ การสังเคราะห์ การออกแบบ การพัฒนาและการวิจัยระบบทางวิศวกรรมเครื่องกล โดยนักศึกษาสามารถเลือกเรียน แขนงพลังงานและความร้อน แขนงควบคุมอัตโนมัติ หรือแขนงออกแบบและบำรุงรักษาเครื่องจักรกล
วิศวกรรมไฟฟ้า
- หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
- หลักสูตร อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า
- หลักสูตร อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
มุ่งเน้นผลิตวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความรู้อย่างสมดุลระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยภาคทฤษฎีมุ่งเน้นให้สามารถสอบผ่านและได้รับใบประกอบวิชาชีพวิศวกรรมจากสภาวิศวกรเป็นประการสำคัญรวมทั้งให้สามารถนำไปใช้ศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับภาคปฏิบัติมุ่งเน้นให้มีประสบการณ์จริง สามารถปฏิบัติงานให้กับสถานประกอบการได้ทันทีเมื่อจบการศึกษาโดยการส่งเข้าร่วมปฏิบัติงานกับสถานประกอบการต่าง ๆ ตามโครงการสหกิจศึกษาเป็นเวลา 16 สัปดาห์ หรือการทำโครงงานนักศึกษาเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษาเป็นอย่างน้อย นักศึกษาสามารถเลือกเรียน แขนงไฟฟ้ากำลัง แขนงไฟฟ้าสื่อสาร หรือแขนงไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ได้ตามความสมัครใจ
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
- หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิ (วศ.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
หลักสูตรเปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกเรียนในแขนงวิชาดังนี้ Digital Systems Engineering, Software Engineering, Network Engineering และ Multimedia Engineering ได้ตามความสนใจ ภาควิชามีโครงการความร่วมมือกับบริษัท Sun Microsystems, Inc. ในโครงการ Sun Academic Initiative-SAI. และบริษัท Cisco Systems, Inc. ในโครงการ Cisco Networking Academy Program และบริษัท IBM Corporation ในการเป็น academic partner เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักศึกษาในการเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงาน ให้สามารถทำงานเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ในหลาย ๆ ด้าน เช่น นักพัฒนาออกแบบวงจรคอมพิวเตอร์ นักพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ นักวิเคราะห์ระบบ และวิศวกรโครงข่าย
วิศวกรรมโยธา
- หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
หลักสูตรมุ่งเน้นการศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการวิเคราะห์ การคำนวณและการออกแบบ รวมถึงการควบคุมงานก่อสร้าง อาคาร สะพาน เขื่อน และระบบสาธารณูปโภค นักศึกษาจะได้รับการปรับพื้นฐาน ทางด้านวิศวกรรม และทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาในระดับวิชาชีพเฉพาะด้าน ทางวิศวกรรมโยธา ในสาขาต่อไปนี้ คือ สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมปฐพี วิศวกรรมการจราจรและขนส่ง วิศวกรรมชลศาสตร์ วิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเทคนิคและการบริหารงานก่อสร้างในงานวิศวกรรมสมัยใหม่
วิศวกรรมยานยนต์
- หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์
- หลักสูตร อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยียานยนต์
จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ จนได้รับการขนานนามว่า Detroit of Asia ทำให้ประสบกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรระดับวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มหาวิทยาลัยสยามได้ตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนบุคลากรดังกล่าว จึงได้หารือกับสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทยและตัวแทนกลุ่มโรงงานประกอบรถยนต์และโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำ ต่างก็มีความเห็นสอดคล้องกันในการร่วมกันผลิตบัณฑิตสาขาวิศวกรรมยานยนต์ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และพัฒนาคุณภาพของบัณฑิตให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง และบัณฑิตของภาควิชาวิศวกรรมยานยนต์ยังสามารถนำความรู้ความสามารถไปประกอบวิชาชีพส่วนตัวได้เป็นอย่างดี
เทคโนโลยีการพิมพ์
- หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมการพิมพ์
- หลักสูตร อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (อส.บ.) สาขาวิชาเทคโนโลยีการพิมพ์
มุ่งผลิตบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีการพิมพ์ ให้เป็นผู้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และวิชาชีพด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม โดยให้นักศึกษาได้ศึกษาทั้งในห้องบรรยายและห้องปฏิบัติการของภาควิชาฯ และส่งนักศึกษาเข้าเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากสถานประกอบการ อีกทั้งมุ่งพัฒนาให้เป็นวิศวกรซึ่งมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในสังคม
วิศวกรรมอุตสาหการ
- หลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
มุ่งผลิตบัณฑิตสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ ซึ่งมีหลักสูตรเป็นไปในแนวทางวิศวกรรมอุตสาหการโดยรวม พร้อมทั้งมีการแยกความชำนาญเฉพาะทางได้อีกสี่แขนง ประกอบด้วย แขนงเทคโนโลยีการพิมพ์ แขนงการจัดการอุตสาหกรรม แขนงวิศวกรรมเครื่องกลการผลิต และแขนงวิศวกรรมคุณภาพและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ได้บัณฑิตเป็นผู้มีความเป็นเลิศทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการ เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม โดยให้นักศึกษาได้ศึกษาทั้งในห้องบรรยายและห้องปฏิบัติการของภาควิชาฯ ส่งนักศึกษาเข้าเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากสถานประกอบการ และมุ่งพัฒนาให้เป็นวิศวกรซึ่งมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในสังคม
หลักสูตรที่ 3. ชื่อหลักสูตร : วิทยาศาสตร์บัณฑิต
- สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม
มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี ดิจิทัล และการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ การสื่อสารข้อมูล และการบริการเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งการทำงานร่วมกับผู้อื่นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารเทคโนโลยีดิจิทัล การออกแบบหน้าจอเพื่อติดต่อกับผู้ใช้
คุณสมบัติของผู้สมัคร
ผู้ที่เข้าศึกษาต่อหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (4 ปี) ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพจากสถาบันการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการ รับรองวิทยาฐานะหรือเทียบเท่า สำหรับผู้ที่จบการศึกษาหลักสูตร ปวส. หรือเทียบเท่า ที่สมัครเข้าศึกษาต่อหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.บ.) จะได้รับการยกเว้นบางรายวิชาที่กำหนดไว้ในหลักสูตรและใช้เวลาในการศึกษาต่อประมาณ 3 ปี ผู้เข้าศึกษาต่อหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) ต้องสำเร็จการศึกษาระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากสถาบันที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ